นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit board) เปิดเผยว่า ผลไม้นับเป็นสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศไทย สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งไทยเป็นผู้นำการผลิตและส่งออกผลไม้เมืองร้อนที่สำคัญและมีชื่อเสียงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน มีมูลค่าการส่งออกผลไม้ จำนวน 45,613 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 64.22 ปัจจุบันเกษตรกรมีการปลูกไม้ผล 57 ชนิด พื้นที่ประมาณ 7.7 ล้านไร่ ผลผลิตปีละประมาณ 10.81 ล้านตัน และสืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19
ซึ่งตรงกับฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออก (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) และภาคเหนือ (ลิ้นจี่) หลายฝ่ายกังวลว่าจะกระทบต่อการบริหารจัดการผลไม้นั้น กรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะเลขานุการ Fruit board ได้ร่วมกับหน่วยงานหลายภาคส่วนกำกับติดตามสถานการณ์การผลิต – การตลาดตลอดฤดูกาลที่ผ่านมา เพื่อช่วยกระจายผลผลิตและระบายสินค้าในหลายช่องทางทั้งระบบออฟไลน์และออนไลน์ จนกระทั่งสถานการณ์คลี่คลายสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ ขณะนี้ใกล้สิ้นสุดฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออกและลิ้นจี่จากภาคเหนือแล้ว
โดยมีคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เป็นแกนหลักในการดำเนินงาน วางแผนการผลิตเชื่อมโยงกับแผนการตลาดล่วงหน้าที่เหมาะสม สอดคล้องกับนโยบายตลาดนำการผลิต ซึ่งพบว่า ผลไม้ภาคตะวันออกทยอยเก็บเกี่ยวใกล้หมดแล้ว ได้แก่ ทุเรียน เก็บเกี่ยวแล้ว 514,619 ตัน คิดเป็นร้อยละ 93.56 คงเหลือ 35,416 ตัน พันธุ์หมอนทอง เกรด A ราคาหน้าสวนเฉลี่ยอยู่ที่ 104.84 บาท/กก. มังคุด เก็บเกี่ยวแล้ว 192,479 ตัน คิดเป็นร้อยละ 90.64 คงเหลือ 19,866 ตัน เกรด A ราคาหน้าสวนเฉลี่ย 65.50 บาท/กก.
เงาะ เก็บเกี่ยวแล้ว 186,787 ตัน คิดเป็นร้อยละ 88.68 คงเหลือ 23,850 ตัน พันธุ์โรงเรียน เกรดคละราคาหน้าสวนเฉลี่ย 18.36 บาท/กก. ลองกอง เก็บเกี่ยวแล้ว 9,084 ตัน คิดเป็นร้อยละ 40.40 คงเหลือ 13,400 ตัน เกรด A ราคาหน้าสวนเฉลี่ย 36.50 บาท/กก. และลิ้นจี่ ภาคเหนือเก็บเกี่ยวแล้ว 24,447 ตัน คิดเป็นร้อยละ 85.25 คงเหลือ 4,229 ตัน พันธุ์ฮงฮวย เกรด AA ราคาหน้าสวนเฉลี่ย 39.63 บาท/กก.
ส่วนผลไม้ภาคใต้ปีนี้คาดว่าจะมีผลผลิตตามฤดูกาล ดังนี้ ทุเรียน 554,486 ตัน มังคุด 144,537 ตัน เงาะ 49,993 ตัน ลองกอง 49,988 ตัน และลำไย (ภาคเหนือ) 386,065 ตัน สำหรับโครงการส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ผลไม้ประจำถิ่น กรมส่งเสริมการเกษตรได้ริเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 เนื่องจากเล็งเห็นว่าไม้ผลหลายชนิด เช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด มะม่วง เงาะ ลองกอง ส้มโอ สละ จำปาดะ ล้วนแล้วแต่เป็นผลไม้ประจำท้องถิ่นหรือที่เรียกกันว่า “อัตลักษณ์ผลไม้”
มีความสำคัญทางเศรษฐกิจตามบริบทของพื้นที่ จึงทำให้เหมาะสมที่จะส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาคุณภาพให้มีมาตรฐาน เกิดการเพิ่มมูลค่าให้กับการสร้างอัตลักษณ์ผลไม้ซึ่งเป็นสินค้าที่มีศักยภาพและมีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีการพัฒนาการผลิตไม้ผลสู่ 4.0 ให้มากขึ้น จึงได้จัดทำโครงการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ผลไม้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้รับทราบเรื่องราว (Story) คุณค่า คุณประโยชน์ และแหล่งที่มาที่ถูกต้องของผลไม้
จนส่งผลให้เกิดการเพิ่มมูลค่าจากการสร้างอัตลักษณ์ผลไม้ที่มีคุณภาพดี มีมาตรฐาน และสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ต่อไปในอนาคต โดยบริหารจัดการผ่านกระบวนการเกษตรแปลงใหญ่อย่างครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการผลิตสินค้าคุณภาพจากสวนที่ได้มาตรฐาน เตรียมพร้อมสู่มาตรฐานการส่งออก ยกระดับเกรดของสินค้าด้วยการรับรองคุณภาพ GAP การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย และสื่อสารเข้าใจง่ายสำหรับผู้บริโภคต่างท้องถิ่น ตลอดจนให้มีการแปรรูปเพิ่มมูลค่า รวมทั้งการเชื่อมโยงตลาดกับผู้บริโภคและผู้ประกอบการ
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากภาคใต้นับเป็นภูมิภาคที่เป็นแหล่งผลิตไม้ผลที่สำคัญของประเทศไทยอีกแห่งหนึ่ง มีการผลิตไม้ผลหลายชนิดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และเป็นสินค้าอัตลักษณ์สร้างชื่อประจำจังหวัด ยกตัวอย่างเช่น “ทุเรียน” นับว่าเป็นราชาแห่งผลไม้ มีหลากหลายสายพันธุ์ให้เลือกบริโภคกันอย่างมาก
โดยเฉพาะทุเรียนอีกสายพันธุ์หนึ่งทางภาคใต้ที่มีชื่อเสียงไม่แพ้กัน นั่นคือ “ทุเรียนสาลิกา” ของดีเมืองพังงา หรือที่เรียกกันเป็นภาษาถิ่นว่า “ทุเรียนสากา” มีรสชาติหวานมันและมีกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ ทุเรียนสาลิกาพังงา มีแหล่งปลูกที่สำคัญอยู่ที่อำเภอกะปง จังหวัดพังงา พื้นที่ประมาณ 320 ไร่ เป็นทุเรียนพื้นบ้านพันธุ์แท้ดั้งเดิม ลักษณะผลกลมสวย ผลโตมีน้ำหนักประมาณ 1.5 – 2 กิโลกรัมต่อผล เปลือกบาง เนื้อสุกเป็นสีเหลืองเข้ม แกนกลางมีสีสนิม เมล็ดเล็กและลีบ รสชาติหวานแหลม เนื้อละเอียด ไม่เละ
มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีฤดูกาลเก็บเกี่ยวช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคมของทุกปี และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ยังมีผลไม้อื่น ๆ ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น เช่น ส้มโอทับทิมสยาม มังคุดในวง เงาะ ลองกอง สละ และจำปาดะ เป็นต้น จึงทำให้เหมาะที่จะส่งเสริมและพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสู่มาตรฐานการส่งออก ควบคู่ไปกับการพัฒนาการแปรรูป เพื่อทำให้การผลิตไม้ผลของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ เกิดการพัฒนาต่อยอดสินค้าไม้ผลได้อย่างครบวงจร