หลังจากมีกระแสข่าวว่า บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ประกาศยุติการขายแป้งเด็กในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เนื่องจากมีข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวของบริษัทฯ ปนเปื้อนแร่ใยหินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้ยอดขายลดลงอย่างมาก
- อย. เรียกคืน ยารานิทิดีน พบสารก่อมะเร็งเกินเกณฑ์
- เตือนระวัง ! ใช้ “ยาต้านมาลาเรีย” รักษาโควิด-19 เสี่ยงต่อการเสียชีวิต – โรคหัวใจ
- “องค์การเภสัชกรรม” เดินหน้าพัฒนา “ยาฟาวิพิราเวียร์” ต้านไวรัสโควิด-19
- ระวังข่าวปลอม!! ยาจีน เหลียนฮัวชิงเหวินแคปซูล รักษาโควิด-19 ไม่ได้จริง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2563 ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ในประเด็นดังกล่าว อย.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ที่ผ่านมา ได้ติดตามเฝ้าระวังความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์แป้งฝุ่นโรยตัวที่ขายในประเทศไทยมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 จนถึงปัจจุบัน ผลการตรวจวิเคราะห์ทุกรายการไม่พบการปนเปื้อนแร่ใยหิน และในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ได้เก็บตัวอย่างอีกจำนวน 18 ตัวอย่าง (แป้งจอห์นสัน 4 ตัวอย่าง) ส่งตรวจวิเคราะห์ ก็ไม่พบแร่ใยหินเช่นกัน รวมถึงมีมาตรการเฝ้าระวังสถานที่ผลิตและนำเข้าผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้อย่างเข้มงวด ขอให้ผู้บริโภคไม่ต้องวิตกกังวล การใช้แป้งเด็กมีข้อควรระวังเพียงอย่างเดียว คือ ขณะใช้อย่าให้แป้งเข้าจมูกและปากของเด็ก เพราะหากสูดดมเข้าไปเป็นเวลานานจะเกิดการสะสมในปอด อาจทำให้เกิดโรคทางระบบทางเดินหายใจได้
ทั้งนี้ ภญ.สุภัทรากล่าวว่า แป้งฝุ่นโรยตัวมีส่วนประกอบหลัก คือ ทัลคัม (talcum) ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่พบได้ตามธรรมชาติ ช่วยดูดซับความชื้น ให้ความรู้สึกสบาย นุ่มลื่นผิว มีการใช้มาเป็นเวลานาน ปัจจุบันทัลคัมยังคงเป็นสารที่ปลอดภัย สามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมในเรื่องสำอางได้ โดยทัลคัมที่นำมาใช้ในเครื่องสำอางต้องมีความบริสุทธิ์สูง ไม่มีการปนเปื้อนของแร่ใยหินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในคน อีกทั้งสหภาพยุโรป อาเซียน รวมถึงประเทศไทยได้ประกาศให้แร่ใยหินเป็นวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง หากเครื่องสำอางใดตรวจพบแร่ใยหินจะถือว่าเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้รับจ้างผลิตเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ