วันที่ 21 มิถุนายน 2563 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ว่าจะเกิดปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาวงแหวน” แนวคราสวงแหวนพาดผ่าน สาธารณรัฐอัฟริกากลาง คองโก เอธิโอเปีย ตอนใต้ของปากีสถาน ตอนเหนือของอินเดีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนประเทศไทย จะเห็นเป็น “สุริยุปราคาบางส่วน” ดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์เพียงบางส่วน ทำให้มองเห็นดวงอาทิตย์ เว้าแหว่ง สามารถสังเกตได้ในช่วงเวลาประมาณ 13:00 –16:10 น. ตามเวลาประเทศไทย ดวงอาทิตย์ จะปรากฏเว้าแหว่งมากที่สุด เวลาประมาณ 14:49 น. สังเกตได้ทุกภูมิภาคของไทย แต่ละภูมิภาค จะมองเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งมากน้อยแตกต่างกัน ดังนี้
- กองทัพอากาศ เตรียมยิงดาวเทียม “นภา-1” ขึ้นสู่อวกาศ 19 มิ.ย. นี้
- ห้ามพลาด ! ปรากฏการณ์ “ดาวเคียงเดือน” รับปีใหม่ไทย 15 – 16 เม.ย.นี้
- รอชม “จันทรุปราคาเงามัว” หลังเที่ยงคืน 5 มิ.ย. 63
- จับตา ! “ซูเปอร์ฟูลมูน” ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี 8 เม.ย. นี้
สุริยุปราคา เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน มีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง เมื่อสังเกตจากโลก จะเห็นดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้ามาบดบังดวงอาทิตย์ สำหรับ สุริยุปราคาบางส่วน เกิดจากโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ไม่ได้เรียงอยู่ในแนวเดียวกัน ดวงจันทร์ จึงบดบังดวงอาทิตย์ เพียงบางส่วนเท่านั้น ทำให้มีเพียงเงามัวของดวงจันทร์ ทอดผ่านพื้นผิวโลก ผู้สังเกตบนโลก ภายในบริเวณที่เงามัวของดวงจันทร์พาดผ่าน จะเห็นดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์ บดบังเพียงบางส่วนเท่านั้น
สำหรับผู้สนใจชมปรากฏการณ์ ห้ามสังเกตการณ์ด้วยตาเปล่า แว่นกันแดด ฟิล์มเอ็กซ์เรย์ หรือแผ่นซีดี เนื่องจากแสงอาทิตย์สามารถทำลายเซลส์ประสาทตาจนตาบอดได้ ควรสังเกตการณ์ผ่านอุปกรณ์เฉพาะ ที่มีคุณสมบัติกรองแสงได้อย่างปลอดภัย อาทิ แว่นตาดูดวงอาทิตย์ ทำจากแผ่นกรองแสงพอลิเมอร์ดำ แผ่นกรองแสงอะลูมิเนียมไมลาร์ กระจกแผ่นกรองแสง สำหรับหน้ากากเชื่อมโลหะ เบอร์ 14 หรือมากกว่า และ อุปกรณ์สังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ทางอ้อม เช่น การดูเงาของแสงอาทิตย์ผ่านฉากรับภาพ หรือ ใช้หลักการของกล้องรูเข็ม ซึ่งเป็นวิธีที่มีความปลอดภัย ไม่เกิดอันตรายต่อดวงตา และยังสามารถดูปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ทีละหลายคน
หากสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ ต้องเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ติดฟิลเตอร์กรองแสงดวงอาทิตย์เท่านั้น เนื่องจากกล้องโทรทรรศน์มีเลนส์รวมแสง ทำให้แสงอาทิตย์ทวีกำลังมากขึ้น เป็นอันตรายอย่างยิ่งแก่ดวงตา
สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาครั้งต่อไปที่สามารถสังเกตได้ในประเทศไทยคือ สุริยุปราคาบางส่วน ในวันที่ 2 สิงหาคม 2570 ซึ่งจะต้องรออีก 7 ปีต่อจากนี้เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม นอกจากจะเกิดปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาบางส่วน” แล้ว ยังเป็นวัน “ครีษมายัน” คือวันที่เวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี ดวงอาทิตย์ จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และ ตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด
สำหรับประเทศไทย วันดังกล่าว ดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลาประมาณ 05:51 น. และ จะตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 18:47 น. รวมเวลาที่ดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่บนท้องฟ้านานถึง 12 ชั่วโมง 56 นาที ประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่เข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ ช่วงกลางวันจะสั้นที่สุด นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว
ในระยะเวลา 1 ปี โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ จะเกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น – ตก ของดวงอาทิตย์ทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่ วันครีษมายัน วันที่กลางวันยาวนานที่สุด วันเหมายัน วันที่กลางคืนยาวนานที่สุด วันวสันตวิษุวัต และ วันศารทวิษุวัต วันที่มีกลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน