ความสำคัญของแคลเซียมบำรุงกระดูก สำหรับผู้สูงอายุ
เมื่ออายุมากขึ้นกระดูกจะเริ่มสูญเสียความหนาแน่น ส่งผลให้เกิดภาวะกระดูกพรุน และเสี่ยงต่อการหักหรือแตกได้ง่าย ซึ่งการสูญเสียมวลกระดูก เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติแต่หากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม ก็อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่รุนแรง เช่น ภาวะกระดูกพรุน หรือ ภาวะกระดูกหัก ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตโดยตรง
บทบาทสำคัญของแคลเซียม
เสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟัน
แคลเซียมเป็นองค์ประกอบหลักของกระดูก ช่วยให้กระดูกมีความแข็งแรงและคงรูป
ลดความเสี่ยงของกระดูกพรุน
ในวัยสูงอายุ กระดูกจะเสื่อมสภาพและสูญเสียความหนาแน่น แคลเซียมช่วยชะลอการเสื่อม และลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุน
ปัจจัยที่ขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม และส่งเสริมให้มีการขับแคลเซียมออกจากร่างกาย
1.อาหารที่มีโซเดียมสูง ทำให้สูญเสียแคลเซียมทางปัสสาวะเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาหารที่มีรสเค็ม เช่น เครื่องปรุงรส น้ำจิ้ม เนื้อสัตว์แปรรูป ของหมักดอง อาหารที่มีส่วนประกอบของผงฟู สารกันบูด เช่น เบเกอรี ซาลาเปา อาหารกระป๋อง และอาหารสำเร็จรูป
2.คาเฟอีน ทำให้สูญเสียแคลเซียมทางปัสสาวะเพิ่มขึ้น และทางเดินอาหารดูดซึมแคลเซียมได้น้อยลง เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลมสีดำ โดยไม่ควรได้รับคาเฟอีนมากกว่า 300 มิลลิกรัมต่อวันหรือเทียบเท่ากับการดื่มกาแฟประมาณ 2-3 แก้ว เนื่องจากมีการศึกษาพบว่าเพิ่มความเสี่ยงกระดูกหักจากกระดูกพรุนไม่มากถึงร้อยละ 20
3.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบความเสี่ยงของกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนเพิ่มขึ้นเมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าหรือเท่ากับ 2 แก้วต่อวันในผู้หญิง และมากกว่าหรือเท่ากับ 3 แก้วต่อวันในผู้ชาย เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ทางเดินอาหารดูดซึมแคลเซียมได้ลดลงและเพิ่มการขับแคลเซียมทางปัสสาวะมากขึ้น
4.สารที่ขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมโดยสารนี้จะไปจับกับแคลเซียม ทำให้แคลเซียมไม่ถูกดูดซึมไปใช้ได้เต็มที่ เช่น ไฟเตท (เมล็ดพืช ถั่วเมล็ดแห้ง ถั่วเปลือกแข็ง ธัญพืช) ออกซาเลต (ใบยอ ชะพลู ผักโขม มะเขือพวง ยอดกระถิน หน่อไม้ ช็อคโกแลต ชา) แทนนิน (ชา ใบพลู กล้วยดิบ)
5.การสูบบุหรี่ จะทำให้ร่างกายได้รับนิโคติน ซึ่งนิโคตินจะไปขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม
การดูแลกระดูกนอกจากแคลเซียม
ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น การเดิน โยคะ หรือเวทเทรนนิ่งเบา ๆ
รับวิตามินดี ผ่านการรับแสงแดดในช่วงเช้า
หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำลายกระดูก เช่น การสูบบุหรี่ หรือการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
สรุป
แคลเซียม เป็นแร่ธาตุสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างและรักษาความแข็งแรงของกระดูกและฟัน โดยเฉพาะในวัยสูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนหรือกระดูกแตกหักง่าย การดูแลสุขภาพกระดูกในช่วงวัยนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่ง และการเสริมแคลเซียมบำรุงกระดูก ผู้สูงอายุอย่างเหมาะสมถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถเคลื่อนไหวได้ดียิ่งขึ้น